ยุทธศาสตร์การบริหาร



แผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ. 2560-2564

จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัย ของหน่วยงานในสังกัดภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้นำแห่งเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์” การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ มหาวิทยาลัยได้นำข้อมูลทั้งภายใน (Internal Factor) และภายนอกสถาบัน (External Factor) มาประกอบการจัดทำ เพื่อให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้งพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แผนยุทธศาสตร์ ฉบับนี้ มหาวิทยาลัยจะใช้ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ. 2560-2564

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ. 2560-2564 ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและจัดการศึกษา รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2564 โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ แผนพัฒนาประเทศและอาศัยข้อมูลจากการระดมความคิดเห็น สรุปดังนี้

  1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564

  2. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

  3. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579

  4. กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) ระยะที่ 2

  5. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548

  6. นโยบายสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

  7. วิสัยทัศน์อธิการบดี วาระที่ 2

  8. SWOT มหาวิทยาลัย

 1.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564

              วิสัยทัศน์ประเทศไทย : สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

              ความมั่นคง  การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลง ความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง  มีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย  ระบบการเมืองที่มั่นคงความมั่นคงของอาหาร พลังงาน และน้ำ

              มั่งคั่ง เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง ความสมบูรณ์ในทุนที่จะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

              ยั่งยืน การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน

              ยุทธศาสตร์ชาติ : เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งเน้นการพัฒนาให้คนไทยมีความสุขภายใต้หลัก“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงหลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง และสร้างความสุขของคนไทย สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์หลัก

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม

  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

          การกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ (Trading and Service Nation) เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          กรอบวิสัยทัศน์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคง และยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เป้าหมาย

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค

  2. การพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา

  3. การพัฒนาการเกษตรสู่ความเป็นเลิศด้านอาหาร

  4. การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคน

  5. การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

  6. การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  7. การพัฒนาพื้นที่ ภาคและการเชื่อมโยงภูมิภาค

แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม

  2. การพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา

  3. การพัฒนาการเกษตรสู่ความเป็นเลิศด้านอาหาร

  4. การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  5. การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

  6. การพัฒนาพื้นที่ ภาคและการเชื่อมโยงภูมิภาค

  7. การพัฒนาศักยภาพคนให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

            การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบ
โลจิสติกส์ของประเทศ การสนับสนุนการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่
การลงทุนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  การใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนและการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน

           การพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา การพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา การพัฒนาผลิตภาพแรงงาน  การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  การเพิ่มขีดความสามารถและสร้างแรงจูงใจให้SMEs  การส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้มแข็งสู่เศรษฐกิจดิจิตอล  การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมและบริการ

          การพัฒนาการเกษตรสู่ความเป็นเลิศด้านอาหาร  การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตทางการเกษตร  การสร้างโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย  การเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคเกษตร  การเร่งพัฒนาและขับเคลื่อนการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง  การส่งเสริมและเร่งขยายผลแนวคิดการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางของมูลนิธิปิดทองหลังพระ  การสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทภาคเกษตรให้มีความยั่งยืน  การพัฒนาฐานข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานด้านการเกษตร  การสร้างบุคลากรด้านการเกษตร

          การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ  การสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคมอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส  การสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ  การพัฒนาการบริหารจัดการในระบบสุขภาพ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค  การสร้างสภาพแวดล้อมและนวัตกรรมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ  การเสริมสร้างบทบาทของสถาบันทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม  การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

          การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษาทุนทางธรรมชาติเพื่อการเติบโตสีเขียว  บริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน  การส่งเสริมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการผลิต การลงทุน และการสร้างงานสีเขียว  การให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม  การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การพัฒนาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

          การพัฒนาพื้นที่ ภาคและการเชื่อมโยงภูมิภาค  การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  การพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ฐานเศรษฐกิจหลัก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของเมืองศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาค  การพัฒนาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงในประเทศและภูมิภาค

          การพัฒนาศักยภาพคนให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศและมีคุณภาพชีวิตที่ดี  การพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัยให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ   การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  การสร้างความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทยให้เอื้อต่อการพัฒนาคน

 2.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดจุดมุ่งหมายและหลักการในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษาจะต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับปวงชน โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ การจัดการศึกษาสามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยรัฐเป็นผู้ส่งเสริมให้มีแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบในชุมชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษา ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ และมีการรวบรวมหน่วยงานด้านการศึกษาจัดตั้งเป็นกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแลการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดเอกภาพในด้านการจัดการและนโยบายการจัดการการศึกษา แต่มีความหลากหลายในการปฏิบัติและการกระจายอำนาจ และให้มีคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการด้านอุดมศึกษา

 3.แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 33 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีหน้าที่ในการพิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ   ในการดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนฯ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ศึกษาสภาวการณ์และบริบทแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ทั้งด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภูมิภาค และโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย และทักษะของประชากรในศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายและมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุค 4.0 และนำผลการติดตามประเมินแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2559 ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับบริบทการจัดการศึกษา โอกาสทางการศึกษา คุณภาพการศึกษาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษา และการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษากับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษา

ปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษา ทั้งที่เกิดจากปัญหาของระบบการศึกษา และจากสภาวการณ์ของโลกที่ประเทศต้องเผชิญ เพื่อนำมากำหนดแนวคิดของการจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมายการพัฒนาการศึกษา บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนา รวมทั้งโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ

          แนวคิดการจัดการศึกษา (Conceptual Design) ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ยึดหลักสำคัญในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งยึดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ประเด็นภายในประเทศ (Local Issues) อาทิ คุณภาพของคนทุกช่วงวัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy) มาเป็นกรอบความคิดสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ

          แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ไว้ดังนี้ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ 2) เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 3) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 4) เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

          เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาดังกล่าวข้างต้น แผนการศึกษาแห่งชาติได้วางเป้าหมายไว้ 2 ด้าน คือ

          เป้าหมายด้านผู้เรียน (Learner Aspirations) โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs) ประกอบด้วย ทักษะและคุณลักษณะต่อไปนี้

          ✥ 3Rs ได้แก่ การอ่านออก (Reading) การเขียนได้ (Writing) และการคิดเลขเป็น (Arithmetics)

          ✥ 8Cs ได้แก่ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross – cultural Understanding) ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy) ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills) และความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion)

          เป้าหมายของการจัดการศึกษา (Aspirations) 5 ประการ

                    1) ประชากรทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง (Access)

                    2) ผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียม (Equity)

                    3) ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ (Quality)

                    4) ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย (Efficiency)

                    5) ระบบการศึกษาที่สนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy)


ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษา 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. คนทุกช่วงวัยมีความรักในสถาบันหลักของชาติ และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

          2. คนทุกช่วงวัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

          3. คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษา การดูแลและป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. กำลังคนมีทักษะที่สำคัญจำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

          2. สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่จัดการศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศเฉพาะด้าน

          3. การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย และทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

          2. คนทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้ความสามารถ และสมรรถนะตามมาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ

          3. สถานศึกษาทุกระดับการศึกษาสามารถจัดกิจกรรม/กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

          4. แหล่งเรียนรู้ สื่อตำราเรียน นวัตกรรม และสื่อการเรียนรู้มีคุณภาพและมาตรฐาน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

          5. ระบบและกลไกการวัด การติดตาม และประเมินผลมีประสิทธิภาพ

          6. ระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้มาตรฐานระดับสากล

          7. ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

          2. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย

          3. ระบบข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศทางการศึกษาที่ครอบคลุม ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนการบริหารจัดการศึกษา การติดตามประเมิน และรายงานผล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. คนทุกช่วงวัย มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม จริยธรรม และนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

          2. หลักสูตร แหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรม และการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

          3. การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา มีเป้าหมาย ดังนี้

          1. โครงสร้าง บทบาท และระบบการบริหารจัดการการศึกษามีความคล่องตัว ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้

          2. ระบบการบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

          3. ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่

          4. กฎหมายและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษารองรับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน สถานศึกษา และความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ

          5. ระบบบริหารงานบุคคลของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษามีความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มตามศักยภาพ


4.กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551-2565 ระยะที่ 2

          เป้าหมายของกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 เมื่อสิ้นสุดแผนในปี พ.ศ.2565 คือ
“การยกระดับคุณภาพอุดมศึกษาไทย เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสามารถปรับตัวสำหรับงานที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพอุดมศึกษาในการสร้างความรู้และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลกาภิวัตน์ สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นไทย โดยใช้กลไกของธรรมาภิบาลการเงิน การกำกับมาตรฐาน และเครือข่ายอุดมศึกษา บนพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ ความหลากหลาย และเอกภาพเชิงระบบ”

 5.พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคล พ.ศ. 2548  ลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122  ตอนที่ 6 ก  ลงวันที่ 18 มกราคม 2548 มีฐานะเป็นนิติบุคคล  และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ
การอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสองรูปแบบคือการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ที่เน้นการตอบสนองภาคอุตสาหกรรมและงานบริการ โดยใช้พื้นที่
จัดการศึกษาหลักใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เทคนิคกรุงเทพ บพิตรพิมุขมหาเมฆ และพระนครใต้  และมีภาระหน้าที่ตามบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาโดยเน้นภารกิจ 4 ด้านคือ

  1. จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา  มุ่งเน้นวิชาชีพเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและมีความสามารถพร้อมเข้าสู่อาชีพ

  2. สร้างงานวิจัย  สิ่งประดิษฐ์  นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ บนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การผลิตและการบริการที่สามารถถ่ายทอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของประเทศ

  3. ให้บริการงานวิชาการ และการศึกษาที่มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อการมีอาชีพอิสระและพัฒนาอาชีพสู่การแข่งขัน

  4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม

 6.นโยบายสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

          จากการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1 วันที่ 18-20 มกราคม 2557 และ ครั้งที่ 2 วันที่ 18-20 มกราคม 2558 ได้มีนโยบายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ดังนี้

                6.1 นโยบายด้านวิชาการ

                   6.1.1 จัดการศึกษาระดับปริญญา มุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความสามารถเชิงปฏิบัติการ มีความพร้อมในการทำงานในภาคอุตสาหกรรม และการบริการ โดยสนับสนุนให้ฝึกงาน/สหกิจศึกษาในสถานประกอบการ

                   6.1.2 จัดการศึกษาวิชาชีพให้กับผู้ทำงานตามความต้องการ (On-demand learning) และ ทันความจำเป็น (Just-in-time learning)

                   6.1.3 พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการตลาดแรงงาน (Demand driven)

                   6.1.4 สร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ โดยพัฒนาอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีวุฒิการศึกษาและตำแหน่งทางวิชาการตามเกณฑ์ สกอ. กำหนด

                6.2 นโยบายด้านการวิจัย

                   6.2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมการนำเสนอผลงานวิจัยใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ

                   6.2.2 จัดตั้งสถาบัน/ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เพื่อสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ

                6.3 นโยบายด้านบริการวิชาการ

                   6.3.1 บริการด้านวิชาการด้านวิชาชีพสู่ชุมชนท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชนและภาคอุตสาหกรรม

                   6.3.2 จัดตั้งศูนย์บริการวิชาชีพร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน

                   6.3.3 ถ่ายทอดความรู้วิชาชีพและสร้างผู้ประกอบการขนาดเล็ก

                6.4 นโยบายด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

                   6.4.1 ส่งเสริมการบูรณาการการทำนุบำรุงและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยกับการเรียนการสอนและการวิจัย

                   6.4.2 ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย ตลอดจนถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการเรียนรู้และเผยแพร่สู่สังคมโลก

 7.วิสัยทัศน์อธิการบดี วาระที่ 2

                   7.1 บุคลากรดี (Human capital)

                   7.2 มีสินทรัพย์ (Financial capital)

                   7.3 เป็นที่ยอมรับของสังคม (Social capital)

                   7.4 สั่งสมทุนทางกายภาพ (Physical capital)

                   7.5 เพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษา (Students competency)

                   7.6 พัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากร (Quality of life)

 8.การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย (SWOT Analysis)

          ในการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2560-2574) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้นำผลการระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมภายในและปัจจัยแวดล้อมภายนอก จากโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2560-2574) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ระหว่าง วันที่ 27-28 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 มาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2560-2574)

สภาพแวดล้อมภายใน

จุดแข็ง

    1. มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อพัฒนากำลังคนให้กับสถานประกอบการ

    2. บุคลากรมีความเชี่ยวชาญวิชาชีพที่หลากหลายในการจัดการศึกษาวิชาชีพ และให้บริการวิชาการแก่สังคม

    3. บัณฑิตได้รับการยอมรับจากนายจ้าง และมีอัตราการได้งานทำสูง

    4. มหาวิทยาลัยพัฒนามาจากสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่มีชื่อเสียง และมีศิษย์เก่าจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ

    5. ผู้บริหารระดับสูงมีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นในการบริหารมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า

จุดอ่อน

    1. บุคลากรขาดการทำงานเป็นทีม

    2. ความสามารถด้านการผลิตงานวิจัยและการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ยังมีน้อย

    3. ขาดการพัฒนาองค์กรและบุคลากรสู่สากล

    4. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ

    5. ขาดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้

    6. ขาดการประชาสัมพันธ์แบบครบวงจรและเข้าถึง

    7. จำนวนอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ.

 

สภาพแวดล้อมภายนอก

โอกาส

    1. ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เน้นอุตสาหกรรมอนาคต (อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อากาศยาน พลังงานสะอาด อาหารไทยฮาลาล ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม การท่องเที่ยว ค้าปลีก และกิจการเพื่อสังคม)

    2. ตลาดแรงงานตามโครงสร้างเศรษฐกิจอาเซียนมีความต้องการบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทาง

    3. วิถีชีวิตออนไลน์และค่านิยมของการประกอบอาชีพอิสระ เอื้อต่อการจัดหลักสูตรระยะสั้น

    4. การเกิดอาชีพที่เคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน

 

ภัยคุกคาม

    1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาลดลง

    2. คุณภาพของนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีคุณภาพระดับปานกลาง

    3. ค่านิยมของผู้ปกครองที่มีต่อการศึกษาสายอาชีวศึกษา

    4. ค่านิยมของนักศึกษาที่ต้องการเรียนสายสังคมศาสตร์มากกว่าสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    5. มาตรฐานการศึกษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียน

    6. การเกิดขึ้นของ Corporate University และ การเข้ามาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

กระบวนการนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ.2560-2564 ไปสู่การปฏิบัติ

          กองนโยบายและแผนจัดสัมมนาโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมุ่งสู่การขับเคลื่อนแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พ.ศ.2555-2559 (ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2557) ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย (ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2557) และสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน โดยผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชา ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน รองผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน ผู้อำนวยการกอง  ผู้อำนวยการสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ศูนย์วัฒนธรรม โครงการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ สภาคณาจารย์ อาจารย์และผู้ปฏิบัติงานแผนของคณะ/หน่วยงาน และทีมงานกองนโยบายและแผน

การติดตามประเมินผล

มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้มีระบบและกลไกในการควบคุม กำกับติดตาม และประเมินผล ดำเนินงานตามแผนดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยติดตามความก้าวหน้า ตามเป้าหมายของตัวชี้วัดแผนยุทธศาสตร์การบริหารประจำปี ปีละ 2 ครั้ง คือรอบ 6 เดือน และรอบ 12 เดือน

  2. กองนโยบายและแผนรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการ ต่อที่ประชุมหัวหน้า

  3. มีการวัดผลและประเมินผล โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และความพึงพอใจของผู้รับบริการ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประเมินผลข้อมูล จากนั้นรายงานผลต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ผลที่ได้จากการประเมินและข้อเสนอแนะจากสภาจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนยุทธศาสตร์และจัดทำแผนปฏิบัติราชการในปีต่อไป